ชีวิตความเป็นอยู่ในสวีเดนในด้านต่าง ๆ

การเข้ามาอยู่ในประเทศสวีเดนด้วยวีซ่า

การเข้ามาอยู่ในประเทศสวีเดนด้วยวีซ่า

ที่มาของข้อมูล: หนังสือคู่มือคนไทยในสวีเดน จัดทำโดยสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องคนต่างชาติคือ กรมตรวจคนเข้าเมืองหรือ Migrationdverket  ที่รับผิดชอบรับคำร้องการขออนุญาตอยู่ในสวีเดนจากคนต่างชาติ จนกระทั่งคนต่างชาตินั้นได้รับการอนุญาตให้อยู่เรียบร้อยแล้ว

คนต่างชาติในความหมายของกรมตรวจคนเข้าเมืองคือบุคคลที่ย้ายเข้ามาอยู่ในสวีเดนด้วยความสมัครใจ ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. ผู้ลี้ภัยสงคราม 2. ผู้ย้ายตามครอบครัว (รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย) 3. ผู้เข้ามาทำงานและ 4. ผู้เข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ตามสถิตของหน่วยงาน SCB ที่ทำหน้าที่เก็บสถิตระบุไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2562 มีจำนวนประชากรในสวีเดนทั้งหมด 10 327 589 คนและมีคนต่างชาติทั้งหมด 1 955 569 คน

คนต่างชาติที่ไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศที่อยู่ในกลุ่มนอร์ดิก (ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์และฟินแลนด์) และในสหภาพยุโรปจและต้องการมาอยู่ในสวีเดนนั้นต้องได้รับการอนุญาตให้อยู่และได้รับอนุญาตให้ทำงานในสวีเดน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในสวีเดนโดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมตรสจคนเข้าเมือง

เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนต่างชาติ

เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวผู้ลี้ภัย

การเข้ามาอาศัยอยู่ในสวีเดนแบบชั่วคราวและถาวร

คนไทยที่จะเดินทางเข้ามาสวีเดนนั้นต้องขอวีซ่าเพราะไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป การขอวีซ่าหรือ Uppehållstillstånd นั้นทำได้โดยยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชฑูตสวีเดนหรือสถานกงสุลสวีเดน ส่วนการยื่นขอต่อวีซ่าให้ยื่นได้ที่กรมตรวจคนเข้าเมือง

รูปแบบของการขออนุญาตอยู่ในสวีเดนมี  3 แบบคือ

  1. การอนุญาตให้อยู่แบบชั่วคราวหรือวีซ่า UT ผู้ที่ได้รับการอนุญาตมีสิทธิเดินทางเข้าออกสวีเดนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 
  2. การอนุญาตให้อยู่แบบถาวร หรือหลาย ๆ คนเรียกว่า วีซ่า PUT (Permanent uppehållstillstånd) ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่แบบถาวรมีสิทธิเดินทางเข้าออกสวีเดนได้อย่างไม่มีกำหนด แต่การอนุญาตจะสิ้นสุดลงเมื่อได้มีการย้ายออกจากสวีเดน การอนุญาตแบบนี้จะออกให้กับผู้ลี้ภัย คู่สมรส คู่ที่จดทะเบียนคุ่ครองหรือคู่ที่เป็น sambo หลังจากอยู่ด้วยกันมาแล้ว 2 ปี 
  3. การอนุญาตให้อยู่เพื่อการศึกษา นักเรียนไทยที่ต้องการมาศึกษาต่อสวีเดนจะได้รับการอนุญาตในประเภทนี้ 
การขอวีซ่ามาทำงานในสวีเดน

การจะมาทำงานในสวีเดนต้องมีการขอวีซ่า การยื่นขอวีซ่าสามารถยื่นขอได้ที่สถานเอกอัครราชฑูตสวีเดนหรือสถานกงสุลสวีเดนที่กรุงเทพ ฯ 

เงื่อนไขในการที่จะได้รับวีซ่าทำงานมีดังนี้

  • ผู้ยื่นขอวีซ่าได้รับการเชิญชวนจากนายจ้างที่อยู่ในสวีเดน
  • ผู้ยื่นขอวีซ่ามีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ
  • ผู้ยื่นขอวีซ่าสามารถยังชีพจากการทำงานนี้ได้
  • เงื่อนไขการจ้างเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของสวีเดนหรือตามเงื่อนไขของสาขาอาชีพนั้น ๆ
  • สมาคมแรงงานที่เกี่ยวข้องแสดงข้อคิดเห็นต่อเงื่อนไขการจ้างงาน
  • ได้มีการประกาศเรื่องการหาคนมาทำงานทั้งในสวีเดนและในสหภาพยุโรปแล้ว

ดูวีธีและเงื่อนไขการขอวีซ่ามาทำงานได้ที่นี่

การได้สัญชาติสวีเดน

การได้สัญชาติสวีเดนมีอยู่ 5 วิธีด้วยกันคือ

1.การเกิด

เด็กที่เกิดหลังวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ถ้ามารดาหรือบิดาของเด็กมีสัญชาติสวีเดน เด็กที่เกิดมาจะได้รับสัญชาติสวีเดนโดยทันที

2.การเป็นบุตรบุญธรรม

ในตอนที่มีการรับบุตรบุญธรรม ถ้าเด็กยังมีอายุไม่ครบ 12 ปีและผู้ปกครองบุญธรรมคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติสวีเดน เด็กที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมก็จะได้รับสัญชาติสวีเดนทันที

3. การสมรสของบิดามารดา

มีอยู่สองเงื่อนไขที่เด็กจะได้สัญชาติสวีเดนทันทีจากการแต่งงานของพ่อแม่คือ

  1. พ่อแม่แต่งงานกันและจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
  2. พ่อหรือบิดามีสัญชาติสวีเดน

ส่วนลูกจะเกิดที่สวีเดนหรือนอกสวีเดน ลูกก็ได้สัญชาติทันที

แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและลูกเกิดนอกสวีเดน ลูกจะไม่ได้สัญชาติสวีเดนตามพ่อ แต่ลูกสามารถได้รับสัญชาติสวีเดนในภายหลังหากพ่อแม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

4.การแปลงสัญชาติ

คนต่างชาติที่อยู่อาศัยในสวีเดนมาเป็นเวลาครบ 5 ปีแล้วสามารถยื่นขอการแปลงสัญชาติสวีเดนได้ที่กรมตรวจคนเข้าเมือง

การยื่นขอสัญชาติสวีเดน

5.การรายงานขอรับสัญชาติ

บุคคลต่อไปนี้สามารยื่นขอรับสัญชาติสวีเดนได้ให้กับตนเองหรือผู้อื่น ได้แก่

  • คนต่างชาติที่มีอายุระหว่าง 18 – 20 ปี
  • บิดามีสัญชาติสวีเดนที่มีบุตรเกิดในต่างประเทศ (นอกสวีเดน) และบุตรยังไม่ได้รับสัญชาติโดยวิธีอื่น
  • ผู้ที่มีอำนาจปกครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เกิดในสวีเดนและเป็นบุคคลไร้สัญชาติมาแต่กำเนิด
  • ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีและได้เสียหรือยกเลิกสัญชาติสวีเดน
  • ผู้ท่ีมีสัญชาติในกลุ่มประเทศนอร์ดิก คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และฟินแลนด์
  • ผู้มีอำนาจปกครองเด็กที่มีภูมิลำเนาในสวีเดนมาเป็นเวลา 5 ปี

 

ยินดีต้อนรับสู่โครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดน

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้