การย้ายมาอยู่ที่สวีเดนตามคู่ครองและความท้าทายทางสังคม

มาถึงสวีเดนต้องทำอะไรบ้าง

มาถึงสวีเดนต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อเราเดินทางมาถึงสวีเดนเรียบร้อยแล้ว เราควรให้แฟนพาเราและลูกของเรา (กรณีที่มีลูกติดตามมาด้วย) ไปขอลงทะเบียนประชากรที่สำนักงานภาษี (Skatteverket) ในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการรับทราบว่าเราได้ย้ายถิ่นมาอยู่ที่สวีเดนแล้ว เอกสารที่ต้องนำไปด้วยคือ พาสปอร์ตของเรา และของลูก (กรณีที่มีลูกติดตามมาด้วย) บัตรอนุญาตให้อยู่อาศัยที่ประเทศสวีเดน (Uppehållstillståndskort) ที่ออกให้โดยกรมตรวจคนเข้าเมือง (Migrationsverket) ทะเบียนสมรส (กรณีที่จดทะเบียนกันเป็นทางการ) ใบเกิดของลูกเรา และที่อยู่ที่เราอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน และอาจจะมีเอกสารเพิ่มเติมอื่นๆอีก สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

หลังจากที่สำนักงานภาษีได้ลงทะเบียนคุณแล้วเขาจะส่งจดหมายไปยังบ้านของคุณพร้อมหมายเลขประจำตัวหรือ personnummer ที่เป็นเลขสิบตัว (YYMMDD-xxxx) ที่เราจะต้องจำให้ได้เพราะจะต้องใช้เป็นประจำไม่ว่าจะติดต่อราชการ เซ็นต์สัญญา สมัครเป็นสมาชิกต่าง ๆ ถ้าจำเลข 10 ตัวนี้ไม่ได้ บอกได้เลยว่า ชีวิตลำบากค่ะ เพราะที่สวีเดนทุกอย่างสามารถทำผ่านเลข 10 ตัวนี้ได้จริง ๆ

เมื่อได้รับหมายเลขประจำตัวแล้ว คุณสามารถไปที่สำนักงานภาษีเพื่อขอให้หน่วยงานออกบัตรประชาชนให้ แต่สำนักงานบางแห่งหรือบางเมืองเท่านั้นที่ออกบัตรประจำตัว ดังนั้นตรวจสอบก่อนนะคะว่ามีสำนักงานภาษีเมืองไหนที่สามารถออกบัตรประชาชนให้ได้ (สามารถกดดูได้ที่นี่)

เวลาจะไปทำบัตรต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อนนะคะและจ่ายค่าบริการล่วงหน้าออนไลน์เป็นจำนวนเงิน 400 สวีดิชโครน 

อ่านขั้นตอนการสมัครบัตรประชาชนได้ที่นี่ค่ะ

อ่านเงื่อนไขการสมัครบัตรประชาชนได้ที่นี่ค่ะ

สวีเดนเป็นประเทศที่ตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นประเทศไร้เงินสดในอนาคต ซึ่งหมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องพกเงินสดออกจากบ้าน เราก็สามารถช้อปปิง กินข้าว ดูหนังได้หมด จะมีเงินช้อปปิ้งได้ก็ต้องมีบัญชีกับธนาคารในสวีเดนก่อนค่ะเพื่อใช้เป็นตัวบริหารจัดการเงินของเราทางออนไลน์และมีบัตรเครดิตหรือเดบิต

ที่สวีเดนมีหลายหลายธนาคารให้เลือกใช้บริการ แต่ 4 ธนาคารที่ไทยไวส์เลือกมานี้เป็นธนาคารรายใหญ่และเป็นที่นิยมค่ะ สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการเปิดบัญชีได้ในลิงค์ข้างล่างนี้

ธนาคาร SEB

ธนาคาร Swedbank

ธนาคาร Handelsbanken

ธนาคาร Nordea

จะเปิดบัญชีธนาคารได้จะเราต้องมีหมายเลขประจำตัวสิบหลัก หรือ Personnummer ก่อนค่ะ เมื่อเราเปิดบัญชีธนาคารได้แล้ว เราจะได้รับบัตรเดบิตและสามารถการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน หรือ สอบถามยอดเงิน เป็นต้น การทำธุรกรรมต่าง ๆ ออนไลน์เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วที่สุดและถูกที่สุดในการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพราะเราสามารถทำการชำระเงินหรือโอนเงินเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่ธนาคารปกติจะเปิดให้บริการระหว่าง 10.00 น. ถึง 15.00 น.

อ่านขั้นตอนการเปิดบัญชี (เขียนโดยไทยไวส์)

การที่เราจะใช้ชีวิตในสวีเดนการเรียนรู้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ขอย้ำว่าสำคัญมากนะคะ แม้ว่าคุณจะไม่วางแผนที่จะเรียนรู้ภาษาแบบคล่องแคล่ว แต่การเรียนรู้พื้นฐานที่จะใช้ในการสั่งซื้ออาหาร ขอความช่วยเหลือ สื่อสารกับครอบครัวของแฟน และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนภาษาสวีเดนในสวีเดนนั้นฟรีค่ะ รัฐบาลจัดหลักสูตรที่เรียกว่า เอสเอฟอี (SFI) ที่แปลว่าภาษาสวีเดนสำหรับผู้อพยพ

ดูวีดีโอ SFI คืออะไร

ใครมีสิทธิ์เรียน SFI

  • ผู้ที่จะเข้าเรียนได้จะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตหรือวีซ่าและมีถิ่นที่อยู่ในสวีเดน
  • มีเลขประจำตัวสิบหลัก (Personnummer)
  • ขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาสวีเดน

ขั้นตอนการสมัครเรียนสามารถติดต่อแผนกการศึกษาผู้ใหญ่ที่เทศบาลที่เราอยู่ หรือติดต่อเทศบาลที่อยู่โดยตรงเพราะเทศบาลมีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการสมัครเรียน และแนะนำโรงเรียนที่ใกล้บ้านให้

หรือจะเรียนภาษาสวีเดนกับรร.เอกชนก็ได้นะคะ แต่อันนี้เราต้องเสียเงินค่าเรียนค่ะ เช่นที่ Folkuniversitetet    หรือที่ Lernia ถ้าคิวที่จะได้เรียนภาษาสวีเดนนานเกินรอ ก็มาเรียนไปก่อนก็ได้ค่ะ

อ่านวิธีการสมัครเรียน SFI ได้ที่นี่ค่ะ

บางครั้งมันก็ยากที่จะรู้ว่าจะเริ่มหางานที่ไหน ไทยไวส์แนะนำเลยค่ะว่า เมื่อมาถึงสวีเดนแล้วให้แฟนพาไปลงทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางาน หรือ Arbetsförmedlingen  ในช่วงแรก ๆ คงต้องให้แฟนหรือเพื่อนที่เก่งภาษาสวีเดนช่วยพาไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือช่วยลงทะเบียนคนหางานในเว็บไซต์ของ Arbetsförmedlingen 

สำนักงานจัดหางานจะมีอยู่ทุกเมืองค่ะ ดังนั้นสะดวกในการไปอยู่แล้ว

นอกจากนี้การหางานในสวีเดนก็มีอีกหลายทางค่ะ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต หรือการสอบถามกับเพื่อนของแฟน ญาติ ๆ ของแฟนหรือแม้กระทั่งเพื่อนที่เรียน SFI ด้วยกันก็สามารถช่วยเราได้ค่ะ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานในสวีเดนได้ที่นี่ค่ะ

สุดท้ายอย่าลืมติดต่อเจ้าหน้าโครงการไทยไวส์หากต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือต่าง ๆ

อย่าลืมว่าคุณไม่ใช่ตัวคนเดียว คุณมีเพื่อน ๆ คนไทยที่คอยให้คำแนะนำและให้ข้อมูลเพิ่มเติม  ติดต่อไทยไวส์ได้ที่นี่ค่ะ

ยินดีต้อนรับสู่โครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดน

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้