การมาทำงานในสวีเดน

การหางานทำในสวีเดน

การหางานทำในสวีเดน

ก่อนเริ่มต้นหางาน

เมื่อมาถึงสวีเดนช่วงแรกเราควรเริ่มจากการเรียนรู้และปรับตัวกับการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมใหม่ให้ได้ดีก่อน แล้วจึงเริ่มที่จะหางานให้เหมาะสมกับความต้องการและแนวทางการใช้ชีวิตของตนเองและครอบครัว รู้จักที่จะสังเกตว่าแหล่งงานในชุมชนที่เราอาศัยอยู่เป็นประเภทไหน มีอะไรบ้าง อีกทั้งพยายามทำความรู้จักและพูดคุยกับผู้คนในชุมชนหรือเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะบ่อยครั้งการได้งานทำก็มาจากการแนะนำของคนที่เรารู้จักนั่นเอง

การหางานในสวีเดนนั้นมีหลายช่องด้วยกัน

  • ติดต่อสำนักงานจัดหางานหรือ Arbetsförmedlingen ที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างนายจ้างและคนหางานค่ะ โดยสำนักงานจัดหางานจะมีโครงการต่าง ๆ ที่คนที่ต้องการหางานสามารถเข้าไปร่วมโครงการได้  ดูวีดีโอ “โครงการต่าง ๆ ของกรมจัดหางานสวีเดน”
  • ส่งใบสมัครไปยังบริษัทที่เราสนใจได้โดยตรง
  • สอบถามจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง เพื่อนบางคนที่เราเรียน SFI อยู่อาจจะสามารถพาเราเข้าไปทำงานด้วย จนในที่สุดเราก็อาจจะได้งานนั้น ๆ

หลาย ๆ คนมาสวีเดนแล้วก็มักจะเริ่มเรียนภาษาก่อนซึ่งการเริ่มต้นเรียนภาษานั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ เพราะเมื่อเราได้ภาษาในระดับหนึ่งแล้วก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ วิธีการเข้าสู่ตลาดแรงงานนอกเหนือจากการส่งใบสมัครไปตามบริษัทต่าง ๆ แล้ว ยังมี

  • การฝึกงานกับบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนการใช้ภาษาและการทำงาน และอาจได้รับการจ้างงานในระยะยาวอีกด้วย

  • การเรียนหลักสูตรสายอาชีพเป็นหลักสูตรเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา เช่น เชฟ ผู้ช่วยพยาบาล ช่างไม้ เป็นต้น สามารถเริ่มเรียนได้เมื่อจบหลักสูตร SFI ใช้ระยะเวลาในการเรียนประมาณ 1.5 ปี หลังจากจบ Svenska 1 เป็นหลักสูตรที่เพิ่มโอกาสการได้งานให้กับคนไทยได้ดีอีกหลักสูตรหนึ่ง
  • การเรียนหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตร เช่น พยาบาลวิชาชีพ (หลักสูตร 3 ปี) ครูวิชาชีพ (หลักสูตร 5 ปี) เป็นต้น เริ่มเรียนได้หลังจากจบ Svenska 1 หรือ 2 โดยจะได้ใบรับรองหลังจากจบการศึกษา
  • เรียนในวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด (arbetsmarknadsutbildning) ของ สำนักงานจัดหางานหรือ Arbetsförmedlingen

ปัจจัยในการจะได้งานทำนั้นขึ้นอยู่กับหลายอย่างด้วยกันและขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกเส้นทางสู่อาชีพแบบไหน

บางอาชีพไม่ต้องการคนที่ใช้ภาษาสวีเดนเก่ง เช่น อาชีพทำความสะอาด แต่นายจ้างต้องการคนที่สื่อสารเป็นมากกว่า หรืออาชีพด้านไอทีหรือเขียนโปรแกรมที่ไม่เน้นภาษาสวีเดนมากนั้น ถ้าเรามีทักษะตรงนี้ เราก็สามารถได้งานเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานสวีเดน งานที่ใช้ฝีมือหรือวิชาชีพเฉพาะด้าน เช่น งานตัดผม การทำเล็บ การนวด การทำอาหาร การทำขนมและเบเกอร์รี่ สามารถสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพหลักในสวีเดนได้ดีเช่นกัน

ถ้าเราไม่มีทักษะและยังไม่เก่งภาษาสวีเดน ก็ควรเริ่มเรียน SFI ที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจะมีการส่งนักเรียนเพื่อไปฝึกงานกับบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนการใช้ภาษาและการทำงาน และอาจได้รับการจ้างงานในระยะยาวอีกด้วย

หรือจะเรียนหลักสูตรสายอาชีพเป็นหลักสูตรเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา (ต้องเรียน SFI ให้จบก่อน) เช่น เชฟ ผู้ช่วยพยาบาล ช่างไม้ เป็นต้น ใช้ระยะเวลาในการเรียนประมาณ 1.5 ปี

หรือจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตร เช่น พยาบาลวิชาชีพ (หลักสูตร 3 ปี) ครูวิชาชีพ (หลักสูตร 5 ปี) เป็นต้น เริ่มเรียนได้หลังจากจบ Svenska 1 หรือ 2 โดยจะได้ใบรับรองหลังจากจบการศึกษา

สำนักงานจัดหางานสวีเดนมีโปรแกรมเยอะแยะและหลากหลายมากที่จะช่วยให้คนที่เพิ่งจะมาอยู่ที่สวีเดนได้งาน ซึ่งเราจะต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานเพื่อให้เขาแนะนำและช่วยให้เราเข้าสู่โปรแกรมนั้น ๆ ตัวอย่างของโปรแกรมที่เราแนะนำคือ

รู้หรือไม่

ตำแหน่งงานที่ขาดแคลนและกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานสวีเดน

  • พยาบาลระดับปริญญาตรี
  • ผู้ช่วยพยาบาลระดับมัธยม
  • งานทางด้านการศึกษา เช่น ครูระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และครูประจำวิชา

เราสามารถตรวจสอบดูแนวโม้วของอาชีพที่เราสนใจได้ที่เว็บไซต์ของ Arbetsförmedligen

การพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้ได้งาน

ระหว่างที่หางานเราควรพัฒนาทักษะอื่น ๆ

  • เรียนขับรถและสอบใบขับขี่ ในการสมัครงานบางอย่างจำเป็น
  • เราควรมีเพื่อนและสายสัมพันธ์ทั้งชาวไทยและสวีเดน เพื่อช่วยรับฟังและช่วยเหลือกันเมื่อเราประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในสวีเดน เพื่อนเราสามารถหาได้จากชั้นเรียน SFI
  • เราควรมีความกล้าในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น
  • รู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
  • รู้จักปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและสังคม
การเป็นลูกจ้างในสวีเดน

การเป็นลูกจ้างในสวีเดนแตกต่างกับที่ไทยค่ะ คนสวีเดนไม่เน้นทำงานหนักแบบหามรุ่งหามคำ่แบบที่ไทย ที่สวีเดนทำงานตามเวลาและไม่ควรทำงานเกินหรือล่วงเวลาโดยไม่จำเป็นมีพักร้อน (semester)

คนสวีเดนเน้นการใช้ชีวิตที่สมดุล คือ แบ่งเวลาให้ลงตัวกับความรับผิดชอบในหน้าที่การทำงานและการทำหน้าที่ในครอบครัว เพื่อให้เรามีสุขภาพกายและใจที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีพลังในการดำเนินชีวิต

ดูวีดีโอ “ความแตกต่างระหว่างการทำงานที่สวีเดนและไทย”

รู้หรือไม่

หากเราพบว่า เราถูกเพื่อนร่วมงานเลือกปฏิบัติ โดนเพื่อนร่วมงานดูถูกหรือพบว่ามีการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติในที่ทำงาน เราสามารถแจ้งได้ที่สหภาพแรงงาน (Facket) หรือถ้าต้องการแจ้งแบบไม่ประสงค์นามสามารถเข้าไปที่หน่วยงาน Diskriminering Ombudsmannen

ยินดีต้อนรับสู่โครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดน

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้