ชีวิตความเป็นอยู่ในสวีเดนในด้านต่าง ๆ

ระบบการศึกษาในสวีเดน

ระบบการศึกษาในสวีเดน

ตามกฏหมายเกี่ยวกับการศึกษาของสวีเดน เด็กทุกคนที่มีอายุระหว่าง 7 ถึง 16 ปีที่อาศัยอยู่ในประเทศ มีหน้าที่ที่จะต้องไปโรงเรียนซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับและมีระยะเวลาเก้าปี การศึกษาภาคบังคับนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้นเด็กที่มีอายุ 6 ปีก็จะมีสิทธิ์ที่เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาได้ถ้าผู้ปกครองต้องการ

การศึกษาของสวีเดนแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับคือ ระดับปฐมวัย (Förskola) ระดับประถมศึกษา (Grundskola) เตรียมอุดมศึกษา (Gymnasium) และอุดมศึกษา (Högskola) 

การศึกษาในระดับปฐมวัย

ถ้าพ่อแม่ต้องการออกไปเริ่มทำงานหลังจากที่หยุดเลี้ยงลูกมาตั้งแต่เกิด พ่อแม่สามารถนำลูกไปฝากไว้ที่โรงเรียนอนุบาลจนกระทั่งเด็กมีอายุครบตามที่จะเข้าเรียนตามกฏหมายกำหนดไว้และเด็กจะต้องไปโรงเรียน 

นอกจากนี้ทางเทศบาลยังจัดสถานที่ดูแลเด็กหลังโรงเรียนเลิกเอาไว้ด้วยหรือที่เรียกกันว่า Frittidshem โดยปกติโรงเรียนของเด็กเล็กจะเลิกไวและผู้ปกครองยังไม่เลิกงาน เด็กที่รอพ่อแม่มารับกลับบ้านจะต้องไปสถานดูแลเด็กช่วงเวลาว่างหรือ Frittidshem สถานดูแลเด็กนี้มีไว้ให้สำหรับเด็กที่เริ่มเข้าชั้นเตรียมประถมไปจนถึงอายุ 12 ปี

เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาระดับปฐมวัย

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลโดยเริ่มตั้งแต่อายุ 1 ปี (หรือก่อนหน้านี้) ไปจนถึงการศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วงของปีที่เด็กมีอายุย่างเข้า 6 ปี 

การเรียนในโรงเรียนอนุบาลเป็นการเรียนแบบสมัครใจและเป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องหาโรงเรียนให้ โดยปกติโรงเรียนอนุบาลจะเปิดให้บริการตลอดทั้งปี

การยื่นใบสมัครเข้าโรงเรียนอนุบาล

พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจตามกฏหมายจะต้องยื่นใบสมัครที่เทศบาลที่เด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเทศบาลจะเสนอชื่อโรงเรียนอนุบาลที่อยู่ใกล้บ้านมากที่สุด

ค่าเล่าเรียน

เทศบาลจะเรียกเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนอนุบาล สถานดูแลเด็กช่วงเวลาว่างและครอบครัวดูแลเด็กในอัตราที่เหมาะสม แต่เมื่อเด็กอายุครบ 3 ปี เด็กจะต้องไม่เสียค่าเล่าเรียน แต่เทศบาลก็มีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับเวลาที่เกินกว่าจำนวน 525 ชั่วโมงต่อปี

การศึกษาในระดับประถมศึกษา

ตามกฎหมายปัจจุบันเด็กที่มีอายุย่าง 6 ปีจะต้องได้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับในการศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วง (ราว ๆ เดือนสิงหาคม) 

การศึกษาในระดับนี้มีเวลากำหนดคือ 9 ปี โดยแบ่งออกเป็นสามระดับดังนี้

  • ระดับต้น เริ่มที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
  • ระดับกลาง เริ่มที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
  • ระดับปลาย เริ่มที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7-9

การสมัครเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา

เทศบาลจะส่งข้อมูลโรงเรียนมาให้ที่บ้านและให้เลือกโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านหรือในเขตเทศบาลที่เด็กอยู่ ซึ่งพ่อแม่สามารถติดต่อขอสมัครเรียนได้ที่โรงเรียนโดยตรงหรือสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของเทศบาล

เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวการศึกษาระดับประถมศึกษา

การศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษา

หลังจากจบเกรด 9 หรือระดับประถมศึกษา นักเรียนสามารถเข้าเรียนในระดับม. ปลายที่เรียกว่า Gymnasiet ซึ่งไม่จัดว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยหลักสูตรจะใช้เวลาในการเรียน 3 ปี และมี 3 ประเภทให้เลือกเรียนตามความสนใจ

  1. Högskoleförberedande คือ หลักสูตรเน้นทางทฤษฎีและเตรียมตัวเพื่อเข้าเรียนสาขาวิชาเฉพาะในมหาวิทยาลัย เช่น แพทย์ เป็นต้น
  2. Yrkesprogram คือ หลักสูตรเน้นวิชาชีพและการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้หลังจากเรียนจบระดับม. ปลาย เช่น ช่างตัดผม เป็นต้น
  3. Lärlingsutbildning คือ หลักสูตรมุ่งเน้นการปฏิบัติหรือวิชาชีพขั้นสูง และจะมีการฝึกงานจริงในสถานที่ทำงาน เช่น ผู้ดูแลม้า เป็นต้น

การศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาเป็นการศึกษาที่ไม่บังคับ การศึกษาในระดับนี้จะให้ความรู้ที่เป็นฐานเพื่อการศึกษาต่อไปหรือเพื่อออกไปทำงานเป็นอาชีพ เมื่อเด็กเรียนจบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็สามารถเข้าเรียนต่อในระดับเตรียมอุดมศึกษาได้ถ้าต้องการ

ตั้งแต่ภาคการศึกษาในฤดูใบไม้ร่วงพ.ศ. 2554  (ค.ศ.2011) เป็นต้นมา มีการเริ่มใช้โปรแกรมการศึกษาระดับชาติ และแนวทางการศึกษาใหม่ ๆ ขึ้นตามมติของรัฐสภา ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในหนังสือคู่มือคนไทยในสวีเดนจึงจะกล่าวถึงระบบใหม่เพียงระบบเดียว

การศึกษาในระดับเตรียมอุดม ตามโปรแกรมระดับชาติจะใช้เวลาเรียน 3 ปี และมี
คะแนนทั้งหมด 2500 คะแนนที่ประกอบด้วยหลักสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ใน
หลักสูตรเหล่านี้จะมีหลักสูตรวิชาหลัก (kärnämneskurser) ที่ทุกคนจะต้องเรียนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเรียนในโปรแกรมไหน นอกจากนั้น ยังมีวิชาที่มีลักษณะพิเศษ (speciella karaktärsämnen) ในทุก ๆ โปรแกรม และมีวิชาเน้นเฉพาะเพื่ออาชีพ
(inrikningsämnen) ด้วย

ประเภทของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (แยกตามภาวะนักเรียน) คือ
1. โรงเรียนเตรียมอุดม (gymnasieskola) เด็กโตอายุ 16-20 ปี
2. โรงเรียนเตรียมอุดมแบบพิเศษ (gymnasiesärskolan) เด็กโตที่มีปัญหาด้าน
พัฒนาสมอง

วิธียื่นใบสมัครเข้าเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา
ระยะเวลาของการส่งใบสมัคร สำหรับการศึกษาที่จะเริ่มในภาคฤดูใบไม้ร่วง ส่วน
ใหญ่จะหมดเขตประมาณวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และปีการศึกษาจะเริ่มในเดือนสิงหาคม และ
สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน


เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของโรงเรียนและการให้คะแนนผลการเรียน

นอกจากครูในโรงเรียนแล้วโดยทั่วไปในสวีเดน จะมี

  • เจ้าหน้าที่ห้องพยาบาลและนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน (Sköterska & Psykolog)
  • มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา (Kurator) รับฟังคำถามและปัญหาต่างๆ โดยจะมีการเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ หากพบว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ก็จะทำการปรึกษาจิตแพทย์ในขั้นตอนต่อไป
  • หมอที่มาตรวจเยี่ยมเพื่อดูแลเกี่ยวกับสุขภาพของนักเรียน เช่น การฉีดวัคซีน เป็นต้น
  • นักการศึกษา (Pedagog) เป็นผู้ที่มาให้ความรู้แก่นักเรียน เช่น ในการเรียนภาคปฏิบัติ พลศึกษา เป็นต้น
การศึกษาในระดับอุดมศึกษา

เมื่อเด็กเรียนจบการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาแล้ว ถ้าต้องการศึกษาต่อก็
สามารถเข้าศึกษาต่อได้ที่ วทยาลัย (Högskolor) หรือมหาวิทยาลัย (Universitet)

  • ต้องการหาหลักสูตรการศึกษาในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเข้าไปได้ที่ https://www.studera.nu/
  • ค้นหาหลักสูตรแบบระยะสั้นและยาวในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยได้ที่ https://www.antagning.se/se/start
  • ต้องการหาหลักสูตรการศึกษาในระดับวิทยาลัยสายอาชีพเข้าไปที่ https://www.yrkeshogskolan.se/

เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

การศึกษาผู้ใหญ่ในสวีเดน

การศึกษาผู้ใหญ่ (ผู้ใหญ่ในที่นี่หมายถึง ผู้ที่มีอายุย่างเข้า 20 ปี) เป็นการให้การศึกษาใน ระดับประถมศึกษา ระดับเตรียมอุดม
และอาชีวะศึกษาผู้ใหญ่ หลักสูตรต่าง ๆ จะจัดขึ้นตามความต้องการของประชาชน
และจะไม่เหมือนกันในแต่ละเขตเทศบาล ผู้เรียนสามารถแยกเรียนเป็นวิชา ๆ ไป หรือจะ
เรียนรวมกันไป โดยเป้าหมายก็คือ เมื่อเรียนครบแล้ว จะได้ความรู้ในระดับประถมศึกษา
และเตรียมอุดมศึกษาที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพอยู่ในสังคม และที่จำเป็นต่ออาชีพ
นอกจากนั้นยังจะทำให้สามารถศึกษาต่อไปอีกได้ถ้าต้องการ

การศึกษาผู้ใหญ่ขั้นพื้นฐานแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบคือ

1.การศึกษาผู้ใหญ่ในระดับประถมศึกษา (grundläggande vuxenutbildning)
2.การศึกษาผู้ใหญ่ในระดับเตรียมอุดมศึกษา (gymnasial vuxenutbildning)
3.การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ที่มีความพิการทางสมอง (ปัญญาอ่อน) (vuxenutbildning för utvecklingsstörda – särvux) หรือ การศึกษาผู้ใหญ่แบบพิเศษ
4.การสอนภาษาสวีเดนสำหรับคนต่างชาติ (svenskundervisning för invandrare -SFI)

เอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่และสถาบันการศึกษาในรูปแบบอื่น

การสอนภาษาสวีเดนสำหรับคนต่างชาติ เป็นการสอนภาษาสวีเดนในระดับพื้นฐานให้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาสวีเดนเป็นภาษาแม่ เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยจะจัดการทำเองหรือมอบให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดทำก็ได้โดยมีรัฐจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรผู้ที่มีสิทธิเรียนในหลักสูตรเอสเอฟไอนี้มีสิทธิที่จะเข้าเรียนในวิทยาลัยการศึกษาประชาชน (folkhögskola) ในหลักสูตรภาษาสวีเดนที่อยู่ในระดับเดียวกับหลักสูตรของเอสเอฟไอได้

ผู้ที่มีสิทธิเข้าเรียนในหลักสูตรของเอสเอฟไอ จะต้องเป็นคนต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ใสวีเดนและมีอายุมากกว่า 16 ปี การเรียนในหลักสูตรนี้สามารถเรียนได้ทั้งแบบเต็มเวลาหรือครึ่งเวลาและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และมีสิทธิที่จะเรียนจนจåหลักสูตร ถ้ามีผลการเรียนที่เป็นที่น่าพอใจ จำนวนชั่วโมงที่เรียนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียน โดยเฉลี่ยแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 545 ชั่วโมง

การกู้ยืมเงินมาเรียนจาก CSN

เงินสนับสนุนการศึกษาเป็นเงินสนับสนุนเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเรียนหนังสือสามารถเรียนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการเงินหรือเรื่องความพิการของตน

เงินสนับสนุนการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.เงินช่วยเหลือการศึกษา (studiehjälp)

2.เงินเพื่อการศึกษา (studiemedel)

3.เงินช่วยเหลือนักเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษาที่พิการ (rg-bidrag)

เงินช่วยเหลือการศึกษา (studiehjälp) และการยื่นขอ
เงินช่วยเหลือการศึกษาจะจ่ายให้กับนักเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษาไปจนถึงภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิของปีที่นักเรียนจะมีอายุครบ 20 ปี และตามปกติจะเป็นการจ่ายให้สำหรับการเรียนแบบเต็มเวลาเท่านั้น เงินช่วยเหลือการศึกษานี้ ไม่ต้องเสียภาษี จึงไม่ต้องนำไปแสดงไว้ในเอกสารการเสียภาษี และจะจ่ายให้สำหรับช่วงเวลาที่เรียนหนังสืออยู่เป็นระยะเวลา 10 เดือนต่อปีสำหรับการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาเทศบาลที่นักเรียนพักอาศัยอยู่ เป็นผู้รับผิดชอบในเงินช่วยเหลือนี้ ถ้ากำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนเทศบาล แต่ถ้าเรียนอยู่ที่วิทยาลัยการศึกษาประชาชน (Folkhögskolan) โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนประจำจะสามารถขอรับเงินช่วยเหลือค่าที่พักได้จากสำนักงานกลางเพื่อเงินสนับสนุนการศึกษา (Centrala studiestödsnämnden – CSN) สำหรับคนสวีเดนที่เรียนหนังสือแบบเต็มเวลาอยู่ในต่างประเทศ ก็สามารถได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษานี้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

เว็บไซต์ของ CSN เพื่อสมัครขอเงิน https://www.csn.se/

เงินเพื่อการศึกษา (studiemedel) และการยื่นขอ

เงินเพื่อการศึกษาจะจ่ายให้กับผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาและผู้ที่เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ในระดับประถมศึกษาและระดับเตรียมอุดมศึกษา โดยเริ่มจากภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงของปีที่ผู้ที่เรียนมีอายุครบ 20 ปีเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงปีที่ผู้ที่เรียนมีอายุครบ 54 ปี แต่โอกาสที่จะได้รับเงินเพื่อการศึกษานี้จะลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปีที่ผู้ที่เรียนมีอายุครบ 45 ปี

 

เงินช่วยเหลือนักเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษาที่พิการ (rg-bidrag)
เงินช่วยเหลือแบบนี้เป็นในรูปของค่าเดินทาง ค่าอาหารและค่าที่พัก สำหรับการศึกษาในระดับที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่จัดไว้ให้สำหรับคนหูหนวก และคนตาบอดที่เมืองเออเรบรูและให้กับนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับคนพิการขั้นรุนแรง

การขอเรียนภาษาแม่

เด็กที่มาจากเมืองไทย หรือเด็กที่เกิดในสวีเดนแต่มีความต้องการที่จะเรียนภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาสวีเดน ก็สามารแจ้งต่อทางโรงเรียนได้ โดยวิชาภาษาแม่นี้บรรจุอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการของสวีเดน และเด็กจะได้รับเกรดเหมือนวิชาอื่นๆ ทั่วไป

นอกจากนี้ นักเรียนสามารถขอให้มีครูภาษาแม่มาช่วยสอนรายวิชาต่างๆ ได้ เพื่อเสริมความเข้าใจในบทเรียน เพิ่มเติมจากการเรียนวิชานั้นๆ ในภาษาสวีเดน

ทุกโรงเรียนจะมีการประชุมผู้ปกครอง (Föraldramöte) โดยจะมีการประชุม 2 ครั้งต่อปี เพื่อให้พ่อแม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อชั้นเรียนหรือเสนอการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับนักเรียน นอกจากนั้นจะมีการนัดพูดคุยระหว่างครูกับผู้ปกครองที่เรียกว่า Utvecklingssamtal ซึ่งครูจะแจ้งผู้ปกครองเกี่ยวกับผลการเรียนและแนวทางการส่งเสริมการเรียนของนักเรียน สำหรับการศึกษาผู้ใหญ่นั้น ผู้เรียนสามารถพูดคุยกับครูได้โดยตรง หากเราไม่สามารถสื่อสารภาษาสวีเดนได้ ก็สามารถขอให้มีล่ามมาช่วยในการแปลได้ นอกจากนั้น เมื่อพบว่ารายวิชาไหนที่นักเรียนทำได้ไม่ดีหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่าน ครูจะมีการส่งจดหมายแจ้งเตือนถึงผู้ปกครองหรือผู้เรียน (การศึกษาผู้ใหญ่) เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือในวิชานั้นๆ ร่วมกัน

ระบบเกรดของการเรียนในสวีเดน

เด็กที่เรียนตั้งแต่เกรด 1-5 จะไม่มีเกรด แต่จะได้รับเกรดเมื่อเริ่มเรียนเกรด 6 เป็นต้นไป เกรดจะประกอบไปด้วย 6 ระดับ ได้แก่ A, B, C, D, E และ F (A คือระดับดีที่สุด เรียงลงมาถึง F คือ ไม่ผ่าน)

เมื่อเรียนจบเกรด 9 นักเรียนจะได้รับเกรดจบที่เรียกว่า Slutbetyg เพื่อใช้ในการเลือกเรียนระดับสูงขึ้นไป ส่วนเด็กที่มาจากต่างประเทศแล้วไม่ได้รับเกรดจบดังกล่าว โดยเรียนอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างม.ต้น และม.ปลาย ก็จะมีโปรแกรมเรียนพิเศษให้ที่เรียกว่า introduktionsprogram และโปรแกรมสอนภาษาสำหรับเด็กโตที่เรียกว่า språkintroduktion (language introduction)

รู้หรือไม่

โรงเรียนในสวีเดนไม่มีการแยกประเภทโรงเรียนเฉพาะหญิงหรือชาย เป็นการเรียนรวมกันทั้งหญิงและชาย ในโรงเรียนจะมีการสอนทั้งหลักสูตรพื้นฐานและวิชาชีพ เพื่อให้ทั้งนักเรียนหญิงและชายรู้จักบทบาทหน้าที่ที่เท่าเทียมกันเมื่อโตขึ้น เช่น การเย็บผ้า การเลี้ยงดูลูก เป็นต้น นอกจากนี้นักเรียนทุกคนจะถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะมีศาสนา เชื้อชาติหรือมาจากประเทศที่แตกต่างกัน

ยินดีต้อนรับสู่โครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดน

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้