
หลายคนอาจสงสัยว่าหลังจากเรียนจบ SFI แล้ว เราควรจะเรียนต่อดีไหม หรือทำงานต่อดี วันนี้ทางทีมงานไทยไวส์ได้รวบรวมคำตอบที่สามารถช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจว่าเราควรจะทำอะไรต่อดีหลังเรียนจบ
เมื่อเรียนจบ SFI แล้ว มีหลายช่องทางที่ทำได้ค่ะ เช่น หางานทำหรือจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น การเรียน SFI เป็นเพียงการเรียนภาษาสวีเดนสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากเราต้องการทำงานในสายอาชีพที่ต้องการวุฒิมากขึ้น เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเป็นพยาบาล เราก็ต้องไปเรียนคอร์สต่าง ๆ ของการศึกษาผู้ใหญ่ในระดับประถมและมัธยม เป็นต้น
การศึกษาผู้ใหญ่ในระดับประถมและมัธยมต้น
วิชาที่เปิดสอนในระดับนี้มีเยอะแยะมากมาย เช่น ภาษาอังกฤษ ฟิสิกซ์ เคมี คณิตศาสตร์ ศาสนา สังคมศาสตร์ ภาษาสวีเดน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถสมัครเรียนได้เพื่อนำหน่วยกิตไปขอเงินช่วยเหลือจาก CSN หรือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนในระดับสูงขึ้นต่อไป เช่น ต้องการไปเรียนในระดับสายอาชีพ (Yrkeshögskola) เขาก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติว่าเราต้องเรียนวิชาอะไรมาบ้าง
การศึกษาผู้ใหญ่ในระดับมัธยมปลาย
วิชาที่เปิดสอนในระดับนี้มีเหมือนกับในระดับประถมและมัธยมต้น เช่น ภาษาอังกฤษ ฟิสิกซ์ เคมี คณิตศาสตร์ ศาสนา ภาษาสวีเดน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ซึ่งในระดับนี้ก็จะแยกออกเป็นสองสายไปอีกคือ สายอาชีพและสายสามัญ เราเลือกได้ว่าอยากจะไปสายไหน ในสายอาชีพก็จะมีแพ็คเก็จที่เราเลือกเรียนได้ เช่น
- ครูปฐมวัยและครูอนุบาล (Barn – och fritidsprogrammet)
- ก่อสร้าง (Bygg – och anläggningsprogrammet)
- ไฟฟ้าและพลังงาน (El- och energiprogrammet)
- ยานยนต์และการขนส่ง (Fordons- och transportprogrammet)
- การค้าและการจัดการ (Handels- och administrationsprogrammet)
- งานช่าง (Hantverksprogrammet)
- โรงแรมและร้านอาหาร (Hotell- och turismprogrammet)
- อุตสาหกรรม (Industritekniska programmet)
- ธรรมชาติวิทยา (Naturbruksprogrammet)
- ร้านอาหารและอาหาร (Restaurang- och livsmedelsprogrammet)
- การติดตั้งพลังงานและอาคาร (VVS- och fastighetsprogrammet)
- การพยาบาลและดูแลคนชราคนพิการ (Vård- och omsorgsprogrammet)
Folkhögskola
Folkhögskola หรือ การเรียนเฉพาะวิชาในระดับประถมและมัธยมต้นที่เปิดให้ผู้ใหญ่ได้เข้ามาเรียน
- ไม่เสียค่าเล่าเรียน
- สามารถขอเงินช่วยเหลือจาก CSN ได้
ที่ Folkhögskola จะมีการเปิดสอนวิชาต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปเรียนเพื่อความรู้หรือเรามีความสนใจในวิชานั้น หรือแม้กระทั่งการลงเรียนหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต
ดูหลักสูตรได้ที่ https://www.folkhogskola.nu/
Yrkeshögskola
วิทยาลัยสายอาชีพที่เมื่อเรียนจบในระดับมัธยมปลายแล้ว เราสามารถสมัครเรียนในหลักสูตรสายอาชีพต่าง ๆ โดยระยะเวลาในการเรียนอยู่ที่ 1 – 3 ปี
- ไม่เสียค่าเล่าเรียน
- สามารถขอเงินช่วยเหลือจาก CSN ได้
- มีฝึกงาน (Lärande i arbete, LIA)
อ่านเพิ่มเติมและหาหลักสูตรได้ที่ https://www.yrkeshogskolan.se/
ใครสามารถสมัครเรียนในวิทยาลัยสายอาชีพได้
- เรียนจบมัธยมปลายหรือจบจาก Komvux
- มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับมัธยมปลาย
Universitet och högskola
การเรียนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจะใช้ระยะเวลาในการเรียน 3 – 5 ปีขึ้นอยู่กับหลักสูตรและคณะที่เรียน
- ไม่เสียค่าเล่าเรียน
- สามารถขอเงินช่วยเหลือจาก CSN ได้
อ่านเพิ่มเติมและหาหลักสูตรได้ที่ https://www.antagning.se/se/start
ไม่รู้ว่าเรียนอะไรต่อดีหลังจากเรียนจบ SFI?
ครูแนะแนวคือคำตอบค่ะ ครูแนะแนวจะให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ให้คำปรึกษาด้านการเรียนและสายอาชีพ การพูดคุยกับครูประจำวิชาที่เราลงเรียนก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเรียนได้ว่าเราต้องเรียนอะไรบ้าง เพื่อที่จบไปแล้วเราจะได้งานทำในสายอาชีพที่เราต้องการค่ะ